ประวัติวัดโบสถ์สามเสน
วัดโบสถ์สามเสน ตั้งอยู่เลขที่ 658 ถนนสามเสน แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีเนื้อที่ 4 ไร่ 3 ตารางวา เป็นวัดเก่าแก่โบราณ อยู่ริมคลองสามเสน ไม่มีใครทราบประวัติความเป็นมา และไม่มีข้อมูลในอดีตมากนัก สันนิษฐานว่าน่าจะเคยเป็นวัดร้างมาก่อน เพราะหากวิเคราะห์ที่มาของชื่อวัดโบสถ์นั้น ในประเทศไทยก็มีมากมาย ไม่น้อยกว่า 50 วัด และต่างก็เคยเป็นวัดร้างจนไม่ทราบชื่อเดิม เพราะหลักของการตั้งชื่อวัดนั้น ส่วนใหญ่ก็จะตั้งตามชื่อของชุมชนนั้น ๆ หรือมิฉะนั้น ก็จะเอานามหรือสกุลของผู้สร้างมาเป็นชื่อของวัด ดังนั้น วัดโบสถ์สามเสน จึงควรจะชื่อว่า วัดสามเสน หรือ วัดคลองสามเสน ตามชื่อของชุมชน นอกจากนี้ วัดโบสถ์ยัง เป็นวัดโบราณเก่าแก่ที่สุดในบริเวณสามเสน
ส่วนคําว่า สามเสน นั้นเป็นคําที่เรียกขานกันมาแต่โบราณกาล คู่กับตํานานพระลอยน้ำ ซึ่งเป็นนิทานปรัมปราเล่าสืบกันมาว่า กาลครั้งหนึ่งพระเจ้าไตรตรึงษ์ ซึ่งครองเมืองอโยธยา ได้มีพระราชธิดาทรงพระสิริโฉมงดงามยิ่งนัก ความงามของพระองค์เป็นที่เลื่องลือสรรเสริญไปทั่ว ทราบถึงเจ้าชายไชยสงคราม โอรสของเจ้าผู้ครองนครฝ่ายเหนือ ซึ่งเป็นชายหนุ่มที่มีความเชี่ยวชาญในวิชา
ไสยเวทอาคมขลังต่างๆ พร้อมกับเพื่อนสนิท ก็ได้ปลอมเป็นชาวบ้านรอนแรมมาจนถึงเมืองอโยธยา เห็นประตูวังมีทหารรักษาการณ์แข็งแรง จึงแปลงกายเข้าไปทางท่อน้ำ ลักลอบได้เสียกับพระราชธิดา ความทราบถึงพระเจ้าไตรตรึงษ์ก็ทรงพิโรธ จึงรับสั่งให้ทําลอบดักทางเข้า - ออกไว้ เจ้าชายหลงกล ติดอยู่ในลอบจึงถูกจับได้ ขณะที่ทหารกําลังนําตัวเจ้าชาย เข้าไปถวายแด่พระเจ้าไตรตรึงษ์อยู่นั้น เพื่อนของเจ้าชายทราบความจึงแปลงกายเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ลอยน้ำมาติดอยู่หน้าพระราชวัง
ผู้คนเห็นเข้าก็แตกตื่นพระเจ้าไตรตรึงษ์ได้ทราบก็เสด็จออกมาทอดพระเนตรและรับสั่งให้นําเชือก เส้นใหญ่มาผูกพระพุทธรูป พร้อมทั้งเกณฑ์ผู้คนมาช่วยกัน ฉุดดึงพระพุทธรูปขึ้นแต่ก็ไม่สําเร็จ เพราะเชือกได้ขาดพระพุทธรูปนั้นก็จมน้ำหายไป ส่วนเจ้าชายก็ได้ฉวยโอกาสขณะที่ผู้คนกําลังชุลมุนหลบหนีไปได้
ส่วนพระพุทธรูปองค์นั้นก็ได้ลอยไปตามน้ำจนมาถึงสถานที่แห่งหนึ่ง ผู้คนเห็นเข้าก็แตกตื่น อยากนําขึ้นไว้สักการบูชา จึงช่วยกันนําเชือกเส้นใหญ่มาผูกติดกับองค์พระพุทธรูปและเกณฑ์ผู้คนมากมายถึงสามแสนคน เพื่อที่จะช่วยกันดึงพระพุทธรูปขึ้นจากน้ำ แต่ก็ไม่สําเร็จอีกเช่นกัน เพราะเชือก ได้ขาด ส่วนพระพุทธรูปนั้นก็ได้จมน้ำหายไปอีก จึงเรียกสถานที่แห่งนั้นว่า สามแสนและเพี้ยนมาเป็นสามเสนในที่สุด และตํานานดังกล่าวนี้เกิดขึ้นแต่โบราณครั้งใดก็คาดเดาได้ยาก แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดขึ้นในสมัยอยุธยาและคําว่าสามเสนนี้ ต้องมีมาก่อนสร้างกรุงรัตนโกสินทร์อย่างแน่นอน
แม้ในนิราศพระบาทของสุนทรภู่ ซึ่งได้ประพันธ์ไว้เมื่อปลาย พ.ศ. 2350 ก็ได้กล่าวถึง สามเสนว่า....
ถึงสามเสนแจ้งความตามสําเหนียก เมื่อแรกเรียกสามแสนทั้งกรุงศรี
ประชุมฉุดพุทธรูปในวารี ไม่เคลื่อนที่ชลธารบาดาลดิน
จึงสาปนามสามแสนเป็นชื่อกุ้ง เออชาวกรุงกลับเรียกสามเสนสิ้น
นี่หรือรักจะมิน่าเป็นรากิน แต่ชื่อดินเจียวยังกลายเป็นหลายคํา
หากจะพิจารณาจากนิทานปรัมปรานี้ แสดงให้เห็นว่าสามเสน ในครั้งนั้นต้องเป็นชุมชนที่ใหญ่มาก และหากย้อนอดีตไปถึงสมัยอยธยา ประเทศไทย หรือสยามในครั้งนั้น มีความเจริญรุ่งเรืองมากและอาจเจริญก้าวหน้ากว่าประเทศใดใดในภูมิภาคนี้ หลวงวิจิตรวาทการได้รวบรวมพงศาวดาร บันทึกไว้ว่า ในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถนั้น แม้โชกุนจากญี่ปุ่นยังต้องมีอักษรสาสน์มาขอขึ้นและดินปืนจากสยาม เพราะขณะนั้นบ้านเมืองสงบสุขชนชาติต่างๆ เดินทางเข้ามาค้าขายและตั้งชุมชนอยู่อาศัยกันมากมาย เช่นชุมชนญี่ปุ่น ชุมชนแขกเปอร์เซีย เป็นต้น และประเทศสยามในครั้งนั้นมีชื่อเสียงมากในเรื่องไม้หอม ซึ่งเป็นส่วนผสมสําคัญในเครื่องเทศและ เครื่องสังคโลกก็เป็นที่นิยมของชาวต่างชาติมาก แม่น้ำเจ้าพระยาจึงมีเรือใบ เรือสําเภาของต่างชาติ แล่นกันขวักไขว่
สําหรับชุมชนสามเสนในครั้งนั้น คงเจริญรุ่งเรืองไม่น้อย จึงมีผู้คนมาอยู่รวมกันเป็นจํานวนมาก แต่สภาพบ้านเรือนก็คงสร้างด้วยไม้ไผ่และมุงแฝกเป็นหลัก เพราะเครื่องมือที่ใช้ขณะนั้นมีเพียงมีดและขวานเท่านั้น ส่วนเลื่อย และจอบ เสียม ขณะนั้นยังไม่มีใช้ ลักษณะของบ้านเรือนกอง เป็นเรือนแพ ลอยอยู่ตลอดสองฝั่งแม่น้ำและลําคลอง เพราะเคลื่อนย้ายได้ง่ายปลอดภัยในฤดูน้ำหลาก สะดวกสบายในการคมนาคม ซึ่งต้องใช้เรือเป็นหลัก และเมื่อชุมชนสามเสน ซึ่งเป็นชุมชนที่ใหญ่มีผู้คนจํานวนมากขนาดเกณฑ์ได้มากถึงสามแสนคน ผู้ปกครองก็ต้องเป็นบุคคลสําคัญมาก ระดับพระบรมวงศานุวงศ์อย่างแน่นอน และวัดโบสถ์สามเสนก็คงจะถูกสร้างขึ้นในสมัยนั้น
แต่ที่กล่าวว่าวัดโบสถ์สามเสน ได้เป็นวัดร้างนั้น ไม่มีหลักฐานว่าได้ร้างไปเพราะสาเหตุใดและร้างไปตั้งแต่เมื่อใด แต่ที่สําคัญก็คือต้องเป็นวัดร้างมานานมาก จนไม่มีใครทราบชื่อเดิมและเหลือเพียงโบสถ์หลังเดียว จึงตั้งชื่อขึ้นว่า วัดโบสถ์ และได้เริ่มบูรณปฏิสังขรณ์ ขึ้นเป็นวัดตั้งแต่เมื่อใดก็ไม่มีหลักฐาน เพราะคําว่า วัดโบสถ์ นี้มีมานานมาก มีหลักฐานบางแห่งบันทึกไว้ว่า เมื่อแรกตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นราชธานี สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ได้เสด็จมาทรงบูรณะวัดโบสถ์สามเสนแห่งนี้แต่ก็ไม่มีหลักฐานยืนยันได้ว่าในครั้งนั้นมีพระภิกษุจําพรรษาอยู่หรือไม่ ซึ่งผู้ที่สนใจโบราณคดีหลายท่านก็สันนิษฐานตรงกันว่า วัดโบสถ์สามเสน ในครั้งนั้นน่าจะยังเป็นกิ่งวัดร้าง คือมีพระสงฆ์มาพักอาศัยไม่แน่นอน เพราะความเป็นอยู่คงยากลําบาก อาจจะมีพระสงฆ์ที่ชอบความสงบ หรือพระธุดงค์ที่ผ่านมาพักจําพรรษาบ้าง เป็นครั้งคราว เพราะเชื่อกันว่าในครั้งนั้น
หากมีบ้านเรือนประชาชนอยู่บ้างก็คงมีน้อยมาก บริเวณทุ่งสามเสนแห่งนี้ส่วนใหญ่ ก็คงเป็นป่าและเป็นที่รกร้าง มีที่สวนที่นาบ้างก็เฉพาะริมแม่น้ำเจ้าพระยา และบุคคลกลุ่มใหญ่ก็คือชาวญวน ชาวเขมร ที่นับถือศาสนาคริสต์เท่านั้น ซึ่งก็คงอยู่กันเฉพาะบริเวณบ้านญวนสามเสน หรือโรงเรียนเซน คาเบรียนในปัจจุบันเท่านั้น ส่วนคนไทยที่นับถือพระพุทธศาสนานั้นน่าจะมีไม่มาก เพราะห่างไกลจากพระนครต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประชากรเพิ่มมากขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเขตพระนครออกไปทางทิศตะวันออก จนถึงทุ่งวัวลําพอง ทุ่งส้มป่อย และทุ่งสามเสน ทําให้มีประชาชนมาอยู่มากขึ้น โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้โปรดฯ ให้สร้างพระราชวังดุสิตขึ้น ได้สร้างพระตําหนักสวนสุนันทาและตําหนักต่าง ๆ พระราชทานแก่เจ้าจอม นอกจากนี้ยังมีเจ้านายข้าราชบริพารต่าง ๆ มาสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยกันเป็นจํานวนมาก จึงเห็นได้ว่าบ้านเรือนโบราณ ที่ตั้งอยู่บริเวณรอบวัดโบสถ์ ไปจนถึงศรีย่าน บางกระบือ ล้วนแต่เป็นบ้านเจ้านายสมัย รัชกาลที่ 5 ทั้งสิ้น และเมื่อชุมชนเกิดขึ้น จึงมีการฟื้นฟูสภาพวัดขึ้นใหม่ ซึ่งมีหลักฐานว่า
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
ลักษณะโดยทั่วไปของสถาปัตยกรรมภายในวัดในปัจจุบัน เป็นรูปแบบศิลปกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีเพียงอุโบสถหลังเก่าที่ยังคงรูปแบบศิลปกรรมในสมัยอยุธยาตอนปลาย
อุโบสถ(หลังเก่า) เป็นรูปแบบศิลปกรรมสมัยอยุธยา ตัวอาคารมีลักษณะโค้งแอ่นเหมือนท้องเรือสําเภาแต่เดิมพาไลด้านหน้าและหลังเป็นหลังคาลดชั้น เมื่อเกิดความเสียหายจึงได้รื้อทิ้ง และต่อเติมเป็นพาไลทั้งสองด้านแทนภายในมีภาพจิตรกรรมสมัยอยุธยาตอนปลายผนังด้านหน้าพระประธาน เขียนภาพพระพุทธเจ้าตอนผจญมารซึ่งเป็นภาพขนาดใหญ่เต็มผนัง ภาพกองทัพพญามารเขียนได้อย่างน่าสะพรึงกลัว ภาพแม่ธรณีบีบมวยผมก็เขียนได้สวยงามเหมาะสม ผนังด้านหลังพระประธานเป็นไตรภูมิ เป็นภาพเขาพระสุเมรุ มีพระอาทิตย์ พระจันทร์ โคจรรอบ ส่วนผนังด้านข้างตอนบนเขียน ภาพเทพชุมนุม ด้านล่างเขียนภาพพระเวสสันดรชาดก (ปัจจุบันภาพพระเวสสันดรชาดก ได้หลุดล่อน จนหมดสิ้นแล้ว) ซึ่งมีผู้ที่ชื่นชอบจิตรกรรมฝาผนัง และได้เข้ามาถ่ายภาพต่างยกย่องว่า จิตรกรรมฝาผนังที่วัดโบสถ์สามเสนแห่งนี้มีความงดงามมากที่สุดในเขตดุสิต
ซุ้มเสมาเป็นซุ้มทรงกบช้าง ใบเสมาเป็นใบเสมาคู่ขนาดเล็กทําจากหินทรายแดง ด้านหน้าอุโบสถ มีเจดีย์ขนาดกลางทรงปราสาทตั้งอยู่บนฐานสูง มีบันไดทางขึ้น 1 ทาง ด้านบนมีลานประทักษิณ ตัวเรือนธาตุมีการทําซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสี่ทิศ ยอดเป็นเจดีย์ทรงเครื่องย่อมุมไม้สิบสอง ไม่มีใครทราบว่าภายในบรรจุสิ่งใด
กําแพงแก้ว ก่อเป็นผนังทึบเตี้ย แต่เดิมมี 4 ประตู เดิมประตูก่อเป็นซุ้ม ต่อมาได้รับการเปลี่ยนเป็นแบบไม่มีซุ้ม แต่ทําลายหัวเสากรอบประตูแทนรูปแบบของหัวเสามีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา ที่มุมทั้งสี่ทิศมีการสร้างวิหารขนาดเล็ก (ปัจจุบันเหลือเพียงวิหารทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ และทิศตะวันตกเฉียงเหนือ) รูปแบบของวิหารเป็นอาคารก่อทึบมีประตูทางเข้าเพียงด้านเดียว
สรุปได้ว่า อุโบสถ (หลังเก่า) ของวัดโบสถ์สามเสน ซึ่งเป็นโบราณสถานแห่งนี้ มีการวางรูปแบบที่สมบูรณ์มาก เป็นอุโบสถขนาดกลาง 1 หลัง มีกําแพงแก้วล้อมรอบ ที่มุมกําแพงแก้วมีวิหารทิศทั้ง 4 ด้าน แต่วิหารทิศที่อยู่ด้านหน้าอุโบสถ เหลือเพียงฐานซึ่งมีระดับต่ำกว่าพื้นดิน คงถูกรื้อออกไป แต่ครั้งโบราณ เพราะจากการสอบถามชาวบ้านซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงมากว่า 50 ปี ก็ ไม่เคยเห็นวิหารทั้ง 2 หลังนั้น มีพระเจดีย์อยู่ด้านหน้าและด้านหลัง ด้านละ 1 องค์ ต่อมาเจดีย์ที่อยู่ด้านหลัง ได้ถูกต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นใกล้เคียงโค่นล้มทับ ประกอบกับฐานเจดีย์ถูกคนร้ายขุดเจาะ เป็นโพรงหลายแห่ง ไม่สามารถรับน้ำหนักได้ จึงโค่นล้มลง และถูกทําลายไปในที่สุด
อุโบสถมีลักษณะฐานแอ่นโค้งคล้ายเรือสําเภา หลังคาซ้อน 2 ชั้น ลดด้านหน้าและด้านหลัง แต่หลังคาส่วนที่ลดด้านหน้าและด้านหลัง คงชํารุดหักพังไปเมื่อครั้งที่ถูกทิ้งร้าง แต่ยังมี ร่องรอย ของเดิม และมีร่องรอยการต่อเติมหลังคาเป็นกันสาดด้านหน้าและด้านหลังขึ้นใหม่ ที่หน้าบันมี จารึกว่า ศ ปี 131 (พ.ศ. 2556) สันนิษฐานว่า น่าจะจารึกไว้เมื่อคราวที่มีพระสงฆ์มาอยู่จําพรรษา และได้ฟื้นฟูวัดขึ้นใหม่ มีลวดลายปูนปั้นประดับกรอบประตูหน้าต่าง หน้าบันตลอดถึงช่อฟ้า มีลักษณะคล้ายศิลปะจีน ซึ่งสันนิษฐานว่าเมื่อครั้งที่มีการซ่อมนั้น (2556) อาจใช้ช่างชาวจีน ศิลปกรรมเหล่านี้จึงเกิดขึ้น ประกอบกับก่อนหน้านั้นในสมัยรัชการที่ 3 ได้ทรงมีพระราชนิยม สร้างวัดต่าง ๆ เป็นรูปแบบผสมผสานไทย-จีน และในครั้งนั้นช่างชาวจีนอาจจะหาได้ง่าย ชํานาญ งานปูนมากกว่าช่างชาวไทย ซึ่งชํานาญงานไม้
ภายในอุโบสถ ประดิษฐานพระประธานปูนปั้นหมู่ใหญ่ถึง 13 องค์ พระประธานองค์ใหญ่ เรียกกันว่าหลวงพ่อสุขเกษม เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ประดิษฐานบนแท่นพุทธอาสน์ ที่มีลักษณะอ่อนช้อยงดงามแบบสมัยอยุธยา ด้านหน้าพระประธานมีพระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัย ประดิษฐานซ้าย - ขวา (หลวงพ่อรวยและหลวงพ่อเศรษฐี) ส่วนพระพุทธรูปองค์กลาง (หลวงพ่อ ทอง) มีพุทธลักษณะค่อนข้างแปลก คือประทับนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายจับด้ามวัตถุ คล้ายไม้ ปิงปอง สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพัด ส่วนพระหัตถ์ขวาจับด้านบนของวัตถุนั้น และที่บริเวณผ้า ทิพย์ของพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์นี้ ประดับลวดลายปูนปั้นที่วิจิตรงดงามมากแบบสมัยอยุธยา จึงสันนิษฐานว่าผู้ที่สร้างนั้นน่าจะมิใช่ชาวบ้านธรรมดาสามัญ ซึ่งได้กล่าวในตอนต้นแล้วว่า สามเสน ในอดีตนั้นต้องเป็นชุมชนขนาดใหญ่และสําคัญมาก เพราะสามารถเกณฑ์ผู้คนได้มากถึงสามแสนคน จึงจําเป็นจะต้องมีบุคคลสําคัญเป็นผู้ปกครองอยู่ด้วยอย่างแน่นอนเพราะหากพิจารณารูปแบบของอุโบสถที่สมบูรณ์ การสร้างพระประธานหมู่ใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกินวิสัยราษฎรธรรมดาสามัญจะทํา กันได้และการสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่อง 2 องค์ (หลวงพ่อรวย และหลวงพ่อเศรษฐี) ซึ่งเป็นสิ่งที่แตกต่างจากวัดที่ราษฎรทั่วไปสร้างกันในยุคนั้น จึงเป็นเครื่องยืนยันว่าผู้ที่สร้างวัดโบสถ์ในครั้ง นั้น น่าจะเป็นผู้ที่มีความสําคัญของบ้านเมืองในครั้งนั้นอย่างแน่นอน
แม้โบราณสถานของวัดโบสถ์สามเสนจะมีความงดงาม และควรค่าแก่การศึกษาทางโบราณคดี แต่เมื่อสร้างมานานนับร้อยปี ก็ชํารุดทรุดโทรมไปตามกาล ประกอบกับงบประมาณของกรม ศิลปากรที่ได้รับมานั้นมีจํานวนน้อย จึงจําเป็นต้องนําไปบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามที่สําคัญเป็นอันดับแรก โบราณสถานของวัดโบสถ์สามเสน จึงถูกปล่อยทิ้งมานานหลังคาอุโบสถผุพังเป็นที่อยู่ของ ค้างคาว และนกพิราบ และมูลของสัตว์เหล่านี้ก็ยิ่งเร่งสร้างความเสียหายให้มากขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับเมื่อ พ.ศ. 2535 ได้เกิดฟ้าผ่าทําให้หลังคาบางส่วนถูกไฟไหม้ชํารุดเสียหาย น้ําฝนที่ รั่วไหลได้ทําความเสียหายแก่ภาพจิตรกรรมฝาผนังเพิ่มขึ้น
กลางปี 2548 รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณจํานวนหนึ่ง และกรมศิลปากรได้เข้ามา ดําเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์โบราณสถานของวัดโบสถ์สามเสน และปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในวัด เพื่อน้อมเกล้าถวายเป็นพระราชกุศล ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ซึ่งก็ได้พบร่องรอยของเดิมและร่องรอยการบูรณะต่อเติมขึ้นภายหลังหลายแห่ง จึงทําให้เชื่อได้ว่า วัดโบสถ์สามเสนแห่งนี้ ได้สร้างมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา และน่าจะเคยเป็นวัดร้างมาก่อน ดังกล่าวแล้วข้างต้น
ปัจจุบันกรมศิลปากร ได้ทําการบูรณะเสร็จสมบูรณ์แล้ว ทําให้ความงดงามของอุโบสถ ได้กลับมาปรากฏแก่สายตาขึ้นอีกครั้งหนึ่ง พระประธานทั้งหมดได้รับการปิดทองใหม่ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เหลือบางส่วน ได้รับการตกแต่งให้เห็นได้ชัดเจนขึ้น จึงเป็นแหล่งเรียนรู้กลางกรุง ที่น่าเข้ามาศึกษาเข้ามาเยี่ยมชมและเข้ามานมัสการพระศักดิ์สิทธิ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตอีกวัดหนึ่ง
ลําดับเจ้าอาวาสวัดโบสถ์สามเสน ตั้งแต่เริ่มฟื้นฟูจากวัดร้าง จนถึงปัจจุบัน
อดีตเจ้าอาวาสก่อนหน้านี้ ไม่พบข้อมูลและหลักฐาน
1. พระอธิการเฮง ปรากฏหลักฐานว่าเป็นผู้ริเริ่มสร้างโรงเรียนวัดโบสถ์ พ.ศ. 2475
2. พระอธิการชื่น ไม่ทราบ พ.ศ. ที่ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส
3. พระมหาทองหล่อ ไม่ทราบ พ.ศ. ที่ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส
4. พระครูศรีปัญญาวิมล ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส 6 ก.พ. 2516 - 5 ธ.ค. 2551
5. พระครูสมณกิจธำรง ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส 2 ธ.ค. 2552 - 25 มิ.ย. 2562
6. พระมหานคร จิตตโสภโณ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส 24 ธ.ค. 2562 - ปัจจุบัน
ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อสุขเกษม หลวงพ่อรวย หลวงพ่อทอง หลวงพ่อเศรษฐี
ความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปนั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่ชาวพุทธยึดเป็นที่พึ่ง และให้ความเคารพนับถือกันมาแต่โบราณกาล จึงพบเห็นได้ทั่วไป เพราะเวลาที่สร้างพระพุทธรูปนั้น มีการทําพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เชื่อกันว่าเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่าภายในองค์พระพุทธรูปนั้นมีเทวดาสถิตอยู่ และที่สําคัญภายในอุโบสถของวัดโบสถ์สามเสนนั้น ยังเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมมานานหลายร้อยปี พระสงฆ์เข้าไปเจริญพระพุทธมนต์กันมาหลายพันหลายหมื่นจบพุทธศาสนิกชนจึงถือกันว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะผู้คนที่อยู่ในท้องถิ่นใกล้เคียงในยามที่มีทุกข์ร้อนอกร้อนใจ ไม่ สามารถพึ่งพาเพื่อนบ้าน หรือญาติพี่น้องได้ ก็จะเข้ามาระบายความทุกข์ขอยึดหลวงพ่อพระประธาน เป็นที่พึ่ง และที่เชื่อถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ก็คือ หลวงพ่อสุขเกษม หลวงพ่อรวย หลวงพ่อทอง และหลวงพ่อเศรษฐีจึงมีผู้คนเข้ามากราบไหว้ขอพรกันตลอดมา แม้บางครั้งปิดอุโบสถไปแล้ว ก็ยังมีผู้ที่ เคารพนับถือ ไปไหว้อยู่ด้านนอก บางวันเวลาเช้า ก็มีถาดใส่ไข่ต้มหรือพวงมาลัย ไปวางแก้บนไว้ด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่าผู้นั้นคงประสบความสําเร็จ ในการมาขอพรพระครูศรีปัญญาวิมลอดีตเจ้าอาวาส เคยเล่าว่า สมัยก่อนที่วัดโบสถ์สามเสนจะมีงานประจําปี ซึ่งจะกันประมาณเดือนธันวาคม หรือมกราคม ซึ่งเป็นฤดูหนาว แต่หากปีใดไม่ได้จุดธูปบอกหลวงพ่อ ก็จะมีฝนตกลงมาทําให้มีอุปสรรคงานไม่ราบรื่นทุกครั้ง แต่หากมีการจุดธูปบอกหลวงพ่องานก็จะราบรื่นผ่านพ้นไปด้วยดีมี ข้าราชการหลายท่านได้มาขอ เข้าไปนมัสการหลวงพ่อสุขเกษม หลวงพ่อรวย หลวงพ่อทอง หลวงพ่อเศรษฐี ได้เล่าให้ฟังว่า ท่านเคารพนับถือหลวงพ่อพระประธานที่นี่มาก เคยทําเรื่องขอเลื่อนยศ เลื่อนตําแหน่ง หรือขอย้ายกันมาหลายครั้ง ก็ไม่ประสบความสําเร็จ แต่หากมาขอกับหลวงพ่อพระ ประธานที่นี่ก็จะสําเร็จทุกครั้ง หรือบางท่านมีปัญหาครอบครัว มาขอพึ่งบารมีหลวงพ่อพระประธานที่นี่ ปัญหาความเดือดร้อนก็คลี่คลาย
*****************************************************
หมายเหตุ โบราณสถานแห่งนี้ในอดีตคืออุโบสถ แต่ปัจจุบันได้มีการสร้างอุโบสถขึ้นใหม่
ส่วนอุโบสถหลังเก่า ที่กล่าวในที่นี้ก็คือวิหารในปัจจุบัน